พระนาคปรกใบมะขาม พระอาจารย์นะดี... จิ๋วแต่แจ๋ว

พระนาคปรกใบมะขาม ... จิ๋วแต่แจ๋ว

พระพุทธรูปและพระเครื่องในลักษณาการที่เรียกว่า "นาคปรก" นั้น นับเป็นพระที่มีพุทธลักษณะงดงาม และมีนัยแสดงความหมายสืบทอดกันมาตั้งแต่โบราณกาล ซึ่งจะพบในหลากหลายรูปแบบและหลายประเภท เช่น เป็นพระพุทธรูปประทับนั่งทับบนบัลลังก์นาคขนด หรือ มีขนดนาคล้อมรอบองค์พระพุทธ ปรากฏพญานาคแผ่เศียรอยู่ด้านบน มีทั้งเศียรเดียวและหลายเศียร

คติความเชื่อในเรื่อง “พญานาค” กับ “ศาสนา” นั้น มีให้เห็นทั้งในศาสนาพราหมณ์และพุทธศาสนามาช้านาน สำหรับศาสนาพราหมณ์ “นาค” มีความสำคัญหลายประการ ไม่ว่าจะเป็น บัลลังก์ขององค์พระวิษณุในไวกูณฑ์ ที่เรียกว่า ‘วิษณุอนันตศายินปัทมะนาภะ’ หรือ ‘นารายณ์บรรทมสินธุ์’, เรื่องราวของนาคที่เป็นศัตรูกับพญาครุฑ ใน ‘ครุฑปุราณะ’, เรื่อง ‘พญานาควาสุกรี’ ที่พันรอบเขามิลินทระในคราวกวนเกษียรสมุทรเพื่อทำน้ำอมฤต, การเป็นเทพพาหนะของพระวรุณ หรือพระพิรุณ ซึ่งทำหน้าที่ให้ฝน, การเป็นสัตว์สำคัญที่เฝ้ามหานทีสีทันดรล้อมรอบเขาพระสุเมรุ ตลอดจนการกล่าวถึงนาคในปุราณะต่างๆ ส่วนทางพุทธศาสนานั้น เป็นที่ทราบกันอยู่ทั่วไปแล้วว่า มีความนิยมสร้างพระพุทธรูปปางนาคปรก อันเกี่ยวเนื่องกับพญานาคที่ชื่อ “มุจรินทน์” ซึ่งมาแผ่พังพานปกป้องพระพุทธองค์ และกลายเป็นพระประจำวันเสาร์ นอกเหนือไปจากเรื่องพญานาคเลื่อมใสในพุทธศาสนา ถึงขนาดปลอมตนมาขอบวชจนเรียกว่า "บวชนาค" มาจนถึงปัจจุบันนี้ นอกจากนั้น ‘นาค’ ยังสัมพันธ์กับพงศาวดารเขมร ซึ่งกล่าวกันว่า เป็นต้นบรรพบุรุษของขอมโบราณ และมักมาปรากฏช่วยสร้างเมืองอยู่เสมอ จนเมื่อชาวขอมจะสร้างศาสนาสถานต่างๆ ก็มักจะจำลองรูปพญานาคไว้ บ้างก็ถือว่านาคเป็นตัวแทนของสะพานสายรุ้งที่เชื่อมระหว่างโลกมนุษย์กับสวรรค์ด้วย

“พญานาค” ดูจะเกี่ยวพันและพัวพันกับพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก หากพิจารณาอาคารสถาปัตยกรรมทางพุทธศาสนา จะพบเห็นเค้าเงื่อนที่พญานาคทำหน้าที่ปกป้องดูแลอย่างจริงจัง เช่น การทำช่อฟ้า รวยระกา ใบระกา และหางหงส์ เป็นรูปพญานาคเลื้อยลงมา การทำคันทวยเป็นรูปนาค เรียกกันว่า "นาคทัณฑ์" ล้อมรอบอุโบสถหรือวิหารไว้ ‘ศิลปะพระพุทธรูปปางนาคปรก’ ที่เก่าแก่ในแถบบ้านเรา อาจจะนับ “พระพุทธรูปหินแกะสลัก ศิลปะเขมรแบบบายน” ที่ปรากฏในแถบเมืองลพบุรี ครั้งขอมเรืองอำนาจและนับถือพุทธศาสนาแบบมหายาน นอกจากนี้ยังปรากฏในพระเครื่องชนิดพระแผงที่เรียกกันในวงการพระว่า "นารายณ์ทรงปืน" ซึ่งความจริงทำเป็นรูปพระปางนาคปรกอยู่กลางพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรและพระนางปรัชญาปารมิตาประทับอยู่ซ้ายขวา ซึ่ง ‘พระปางนาคปรก’ ทั้งองค์พระพุทธรูปหินจำหลักและที่ปรากฏในพระแผงนั้น เป็นการจำลองพระพุทธรูป "พระชัยพุทธมหานาถ" ที่ พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ผู้ครองนครธม โปรดฯ ให้สร้างขึ้น 23 องค์ และพระราชทานไปประดิษฐานตามเขตแดนต่างๆ ที่เป็นขอบขัณฑสีมาในราชอาณาจักรของพระองค์ในสมัยนั้น

สยามประเทศ คงได้รับอิทธิพลการสร้างพระปางนาคปรกจากเขมรก่อนเป็นเบื้องแรก จึงเริ่มพบพระประเภทดังกล่าวตั้งแต่สมัยอยุธยา และเมื่อราชสำนักพยายามรวมรวมพุทธประวัติ ได้มีการสร้างพระปางต่างๆ ตามเรื่องราว ‘พระปางนาคปรก’ ก็ได้รับความนิยมมากขึ้น เนื่องจากแสดงออกถึงอิทธิฤทธิ์แห่งองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า และแสดงความสัมพันธ์กับ "นาค" ได้ชัดเจนที่สุด

ต่อเมื่อมีการจัดสรรให้เกิดพระปางประจำวัน เพื่อเข้าไปทดแทนการบูชาเทพนพเคราะห์ ซึ่งได้แก่ พระอาทิตย์ พระจันทร์ ไปจนถึง พระราหู พระเกตุทั้งเก้าดวง ซึ่งเป็นคติพราหมณ์ “พระปางนาคปรก” ก็ได้รับการจัดสรรให้เป็นปางประจำวันเสาร์ แทนดาวพระเสาร์แต่นั้นมา ซึ่งนอกเหนือจากการสร้างในรูปแบบพระพุทธรูปแล้ว สำนักต่างๆ ตลอดจนแวดวงพระเครื่องตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์เป็นต้นมา เริ่มนิยมสร้างพระพิมพ์ขนาดเล็ก เพื่ออาราธนาพกติดตัวไปที่ต่างๆ ตามความเชื่อว่าจะช่วยปกป้องรักษาและคุ้มกันภยันตราย หรือเพื่อบรรจุกรุ เจดีย์หรือมงคลสถานต่างๆ สำหรับ “พระนาคปรก” นั้น ก็มีการจัดสร้างในลักษณาการพระเครื่องประกอบในการจัดสร้างวัตถุมงคลด้วยตลอดมา

กาลต่อมา พระเถราจารย์ได้รังสรรค์พระเครื่องให้มีขนาดเล็กลงอีก ในรูปแบบและขนาดเท่าใบมะขาม มีขนาดสูงประมาณ 1 ซ.ม. เท่านั้น โดยกรรมวิธีปั๊มด้วยโลหะชนิดต่างๆ และนิยมเรียกพระสกุลนี้ว่า “พระปรกใบมะขาม” ซึ่งมีคติความเชื่อกันว่า ทรงพุทธคุณสูงส่ง จนเป็นที่กล่าวขานในวงการพระเครื่องว่า พระปรกใบมะขาม นั้น ‘จิ๋วแต่แจ๋ว’ จึงกลายเป็นที่นิยมแสวงหากันมากมาจนถึงปัจจุบัน



พระนาคปรกใบมะขาม พระอาจารย์นะดี

พระนาคปรกใบมะขาม พระอาจารย์นะดี



:: ทีมงานกัลยาณมิตร

พระนาคปรกใบมะขาม พระอาจารย์นะดี... จิ๋วแต่แจ๋ว พระนาคปรกใบมะขาม พระอาจารย์นะดี... จิ๋วแต่แจ๋ว Reviewed by Unknown on 9/27/2561 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ตอนที่ 2 : หนุมานปราบศึก เสก 7 เสาร์ 9 อังคาร

ตอนที่ 2 : หนุมานปราบศึก เสก 7 เสาร์ 9 อังคาร . ในตอนที่ 1  # ทีมงานกัลยาณมิตร  ได้เขียนถึง อิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ และลักษณะเฉพาะตัวของหนุม...

ขับเคลื่อนโดย Blogger.